ข้อสะโพกปกติ
ถ้าพูดถึงข้อสะโพกบางคนยังอาจจะนึกไม่ออกว่ามันหน้าตาเป็นอย่างไรและทำหน้าที่อะไร บอกได้เลยว่าข้อสะโพกเป็นข้อหนึ่งในร่างกายที่ต้องรับน้ำหนักของตัวเรามากที่สุด ข้อสะโพกเป็นรอยต่อระหว่างกระดูกเชิงกรานกับกระดูกต้นขา ประกอบไปด้วย 2 ส่วนสำคัญ อันได้แก่ส่วนที่เป็นหัวกระดูกสะโพก (Femoral head) มีรูปร่างกลมเหมือนลูกบอล และเป็นส่วนที่อยู่บนสุดของกระดูกต้นขา (Femur) ส่วนของหัวกระดูกจะอยู่พอดีภายในส่วนที่เรียกว่า เบ้าสะโพก (Acetabulum) ซึ่งมีลักษณะเป็นแอ่งกะทะครึ่งวงกลมอยู่ในกระดูกเชิงกราน ทั้งหัวกระดูกสะโพกและเบ้าสะโพกจะมีผิวกระดูกอ่อน (Cartilage) เคลือบอยู่ ผิวกระดูกอ่อนนี้มีลักษณะเรียบเป็นมันสีขาวคล้ายไข่มุก ทำให้เวลาที่มีการเคลื่อนไหวของข้อสะโพกทั้งขณะที่เราเดินหรือลุกนั่งเป็นไปอย่างราบรื่นและเราจะไม่รู้สึกเจ็บปวด
นอกจากนี้ข้อสะโพกยังมีส่วนที่เป็นเนื้อเยื่อเป็นส่วนประกอบ ส่วนแรกเป็นเส้นเอ็นที่ยึดระหว่างหัวสะโพกและเบ้าสะโพก ช่วยให้ข้อมีความมั่นคง อีกส่วนมีลักษณะเป็นเนื้อเยื่อบาง (synovial membrane) คลุมบริเวณทั้งหมดของข้อสะโพก ในข้อปกติภายในเนื้อเยื่อนี้มีของเหลวที่ทำหน้าที่หล่อลื่นช่วยให้ข้อเคลื่อนไหวได้อย่างราบรื่น
โรคของข้อสะโพกที่พบบ่อย
1. โรคหัวกระดูกสะโพกขาดเลือด (Avascular necrosis)
โรคนี้พบบ่อยในคนที่มีอายุประมาณ 30-40 ปี เชื่อว่าเกิดจากการที่เส้นเลือดที่มาเลี้ยงหัวกระดูกสะโพกมีการอุดตัน ทำให้หัวกระดูกสะโพกค่อยๆตาย ผิวข้อสะโพกจะเสียไป จนในที่สุดหัวกระดูกสะโพกจะยุบตัว ทำให้คนไข้ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ตามปกติและมีอาการเจ็บปวดอย่างมาก สาเหตุที่แน่นอนยังไม่สามารถสรุปได้ แต่ก็มีอยู่หลายสมมติฐานที่ได้รับการพิสูจน์ว่าอาจมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมาก ได้แก่ การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หรือการรับประทานยาในกลุ่มสเตียรอยด์เป็นประจำ หรือภายหลังจากการได้รับอุบัติเหตุที่ทำให้มีการเคลื่อนหลุดของหัวสะโพกจากเบ้า เป็นต้น
2. โรคข้อสะโพกเสื่อม (Hip osteoarthritis)
ส่วนมากพบในกลุ่มคนที่อายุเกิน 50 ปีขึ้นไป มักเกี่ยวข้องกับการที่ข้อสะโพกเจริญเติบโตอย่างผิดปกติตั้งแต่วัยเด็ก ส่วนมากพบในคนที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคนี้ อาการของโรคเกิดจากผิวข้อสะโพกสึกกร่อนและไม่เรียบ หรือการที่มีหัวสะโพกไม่กลมรับไปกับเบ้าสะโพกทำให้การเคลื่อนไหวของข้อสะโพกผิดปกติไป นานๆเข้าจะทำให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวได้ลำบากและมีอาการเจ็บปวด
3. โรคอักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis)
เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งก่อให้เกิดอาการอักเสบแบบไม่ติดเชื้อ เกิดได้กับข้อต่างๆทั่วร่างกาย มีอาการอักเสบแบบเป็นๆหายๆ นานไปก็ทำให้ผิวข้อมีการสึกกร่อนและถูกทำลายไป
4. โรคข้อเสื่อมหลังการบาดเจ็บ (Traumatic arthritis)
โรคนี้พบภายหลังการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ ที่ทำให้ข้อสะโพกแตกหรือหลุดออกจากเบ้าสะโพก ซึ่งแม้หายจากอาการบาดเจ็บแล้ว ผิวข้อสะโพกก็อาจจะยังไม่เรียบดี ทำให้ต่อมาภายหลังเกิดเป็นโรคข้อสะโพกเสื่อม
5. โรคคอกระดูกสะโพกหัก (Femoral neck fracture)
พบได้ในทุกกลุ่มอายุ แต่จะพบมากในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคกระดูกพรุนร่วมด้วย คอกระดูกสะโพกหักเป็นสาเหตุที่ทำให้คนไข้ต้องได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม
เมื่อไรที่ต้องเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม
การเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม (Total Hip Arthroplasty)นั้นผู้ป่วยต้องได้รับการลงความเห็นจากแพทย์ว่าเป็นโรคที่จำเป็นต้องรักษาด้วยการเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม (ดังกล่าวไว้ในโรคข้อสะโพกที่พบบ่อย) โดยมากแล้วคนไข้มักจะมีลักษณะดังต่อไปนี้
- ปวดข้อสะโพกตลอดเวลา ไม่ว่าจะเดินหรือเคลื่อนไหวลุกนั่ง
- ข้อสะโพกติดหรือเคลื่อนไหวได้ลำบาก
- รับการรักษาโดยการรักษาแบบประคับประคอง เช่นรับประทานยาแก้ปวด หรือเข้ารับการทำกายภาพบำบัด แล้วอาการไม่ดีขึ้น
- ข้อสะโพกเสื่อมในระยะสุดท้าย
- หัวกระดูกสะโพกขาดเลือดระยะสุดท้าย
- คอกระดูกสะโพกหัก
ผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมเริ่มต้นเมื่อปีค.ศ.1962 โดยแพทย์ชาวอังกฤษชื่อ Sir John Charnley ซึ่งต่อมาผลงานของแพทย์ท่านนี้ได้ก่อให้เกิดประโยชน์มากมายต่อผู้ป่วยที่มีปัญหาของข้อสะโพก ข้อสะโพกเทียมประกอบด้วยส่วนสำคัญ 3 ส่วนคือ 1. เบ้าสะโพกเทียม ซึ่งอาจจะทำมาจากโลหะหรือโพลีเอทธีลีน โดยจะยึดกับเบ้าเดิมที่กระดูกเชิงกราน 2. ส่วนหัวสะโพกเทียม ซึ่งเป็นโลหะหรือเซรามิก มีรูปร่างกลมเหมือนกับหัวสะโพกเดิมยึดติดอยู่กับก้านสะโพกเทียมที่ตอกยึดเข้าไปกับกระดูกต้นขาส่วนต้นอีกที 3. ก้านสะโพกเทียม ทำมาจากโลหะต่อยึดกับส่วนหัวสะโพกเทียม ใช้ตอกยึดเข้าไปกับกระดูกต้นขาส่วนต้น
ส่วนประกอบของข้อสะโพกเทียมส่วนที่เป็นเบ้าสะโพกและก้านสะโพกเทียมนี้ จะยึดติดกับกระดูกได้ 2 วิธี คือ
1. แบบใช้ซีเมนต์ยึด (Cemented fixation) โดยอาศัยซีเมนต์ชนิดพิเศษทางการแพทย์ช่วยยึดตัวก้านและตัวเบ้าให้ยึดติดกับกระดูก
2. แบบไม่ใช้ซีเมนต์ยึด (Cementless fixation) อาศัยการเบียดแน่นของตัวก้านหรือเบ้าสะโพกกับตัวกระดูก โดยหวังผลให้เกิดการสร้างกระดูกมาหลอมรวมกับตัวข้อเทียมในอนาคต
ทั้งนี้แพทย์อาจใช้วิธีการยึดติดทั้งสองรูปแบบในคนไข้คนเดียวกันที่เรียกว่าไฮบริด (Hybrid fixation) เช่นส่วนของเบ้าใช้เป็นแบบไม่ใช้ซีเมนต์ แต่ส่วนที่เป็นก้านใช้แบบซีเมนต์ยึด เป็นต้น
ผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมแบบแผลเล็ก
เทคโนโลยีของการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมสมัยใหม่ในปัจจุบันได้มีวิวัฒนาการเป็นอย่างมากในทศวรรษนี้ ด้วยเหตุผลที่ต้องการให้ผู้ป่วยมีความเจ็บปวดจากการผ่าตัดน้อยที่สุด บาดแผลหลังผ่าตัดมีขนาดเล็กลง สามารถลุกเดินและกลับไปประกอบกิจวัตรประจำวันได้อย่างรวดเร็ว วิธีการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมจึงสามารถแบ่งได้เป็น 2 วิธี ได้แก่
1. แบบมาตรฐานดั้งเดิม(Standard Total Hip Arthroplasty)
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมด้วยวิธีมาตรฐานดั้งเดิมทำกันมานานกว่า 50 ปี โดยที่ผลของการผ่าตัดก็ดีเป็นที่น่าพอใจ โดยอาศัยหลักการที่แพทย์ต้องการเห็นภายในข้ออย่างชัดเจนเพื่อให้สามารถวางตำแหน่งของข้อเทียมได้อย่างแม่นยำ จึงจำเป็นต้องเปิดแผลผ่าตัดให้มีขนาดใหญ่ ประมาณ 15-20 เซนติเมตร การทำผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมแบบแผลเล็ก (เนื้อเยื่อบาดเจ็บน้อย)จัดได้ว่าเป็นกลุ่มของวิธีการทำผ่าตัดข้อสะโพกเทียมแบบใหม่ที่มีเป้าหมายเพื่อลดความรุนแรงต่อการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อ, ลดการตัดทำลายกล้ามเนื้อและลดขนาดของแผลผ่าตัดลงให้เล็กที่สุดพอที่จะใส่ข้อเทียมได้อย่างแม่นยำ ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบกับวิธีการผ่าตัดแบบดั้งเดิมแล้ว พบว่าการทำผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมชนิดเนื้อเยื่อบาดเจ็บน้อยทำให้มีการเสียเลือดจากการผ่าตัดลดลง, ลดความเจ็บปวดที่เกิดจากการผ่าตัด, ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวจากการผ่าตัดได้รวดเร็วขึ้น รวมถึงระยะเวลาในการนอนโรงพยาบาลของผู้ป่วยก็สั้นลง นอกจากนี้แล้วผู้ป่วยยังมีความพึงพอใจต่อรอยแผลหลังผ่าตัดที่มีขนาดเล็กลงประมาณ 1 ใน 3 ของแบบมาตรฐานดั้งเดิมอีกด้วย การทำผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมแบบแผลเล็ก สามารถแบ่งเป็น 3 วิธีใหญ่ๆ ได้แก่ การผ่าตัดแบบแผลเดียวทางด้านหน้า (single incision anterior approach), การผ่าตัดแบบแผลเดียวทางด้านหลัง (single incision posterior approach), และการทำผ่าตัดแบบ 2 แผลเล็ก (2-small incision) โดยแผลทางด้านหน้าเพื่อทำส่วนเบ้า (acetabular component ) และแผลทางด้านหลังเพื่อทำส่วนก้าน (femoral component)
2. แบบแผลเล็ก (เนื้อเยื่อบาดเจ็บน้อย) (Minimally Invasive Surgery-Total Hip Arthroplasty; MIS-THA)
ผู้ป่วยที่เหมาะสมต่อทำผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมแบบแผลเล็กนี้ คือคนที่รูปร่างไม่อ้วนมาก สุขภาพแข็งแรง อายุไม่มากจนเกินไป รวมถึงมีความตั้งใจที่จะลุกเดินกลับไปประกอบกิจวัตรประจำวันได้อย่างรวดเร็วภายหลังผ่าตัด โดยที่มีโรคของข้อสะโพกและภาวะบางอย่างของข้อสะโพกที่ไม่เหมาะจะทำผ่าตัดด้วยวิธีนี้ ท่านควรปรึกษากับแพทย์ก่อนที่จะทำผ่าตัดถึงข้อดีข้อเสียและความเหมาะสมก่อนการผ่าตัดด้วยวิธีนี้
เทคนิคการทำผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมแบบแผลเล็ก (เนื้อเยื่อบาดเจ็บน้อย)
การทำผ่าตัดด้วยวิธีนี้ แพทย์จำเป็นต้องอาศัยเครื่องมือผ่าตัดชนิดพิเศษบางอย่าง รวมถึงต้องมีความชำนาญและได้รับการฝึกฝนวิธีผ่าตัดแบบนี้มาเป็นอย่างดี โดยข้อสะโพกเทียมที่ใช้นั้นยังเป็นข้อเทียมแบบเดียวกับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมด้วยวิธีมาตรฐานดั้งเดิมที่มีผลการใช้งานที่ยาวนานยืนยันมาเป็นอย่างดี ขั้นตอนการผ่าตัดด้วยวิธีนี้ยังคงเหมือนกับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมด้วยวิธีมาตรฐานดั้งเดิม แต่การผ่าตัดด้วยวิธีใหม่นี้จะมีการตัดทำลายกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อของสะโพกน้อยกว่า โดยแพทย์จะลงแผลผ่าตัดที่บริเวณด้านข้างของสะโพกยาวประมาณ 6- 8 เซนติเมตร หลังจากนั้นจะแหวกกล้ามเนื้อหรือตัดกล้ามเนื้อเพียงบางส่วนเพื่อเข้าสู่ข้อสะโพก เมื่อทำการใส่ส่วนหัวและก้านข้อสะโพกเทียม รวมถึงเบ้าสะโพกเทียมเป็นที่เรียบร้อยดีแล้ว ก็เย็บซ่อมส่วนของกล้ามเนื้อที่ตัดออก และแพทย์จะทดสอบความมั่นคงของข้อสะโพกเทียมเป็นอย่างดีอีกครั้งข้อดีของการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมแบบแผลเล็ก (เนื้อเยื่อบาดเจ็บน้อย)
- แผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก 6-8 เซนติเมตร
- เจ็บปวดน้อยกว่า
- เสียเลือดน้อยกว่า
- ลุกเดินได้เร็วกว่า
- กลับบ้านได้เร็วกว่า
เปรียบเทียบการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมด้วยวิธีมาตรฐานกับแบบเนื้อเยื่อบาดเจ็บน้อย
ถ้าเราเปรียบเทียบการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมด้วยวิธีมาตรฐานดั้งเดิม(Standard Total Hip Arthroplasty) กับวิธีเนื้อเยื่อบาดเจ็บน้อย (Minimally Invasive Surgery-Total Hip Arthroplasty: MIS-TKA) จะพบว่า มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนในเรื่องของ ขนาดแผลผ่าตัด ปริมาณการเสียเลือด ความจ็บปวดของคนไข้หลังการผ่าตัด วันที่คนไข้สามารถเริ่มลุกเดินได้ รวมถึงระยะเวลาที่คนไข้นอนอยู่ในโรงพยาบาล ดังจะเห็นได้จากตารางเปรียบเทียบนี้
ข้อเปรียบเทียบ |
วิธีมาตรฐาน (Standard Total Hip Arthroplasty) |
วิธีเนื้อเยื่อบาดเจ็บน้อย (Minimally Invasive Surgery-Total Hip Arthroplasty) |
---|---|---|
ขนาดแผลผ่าตัด | 15-20 เซนติเมตร | 6-8 เซนติเมตร |
ปริมาณการเสียเลือด | มากกว่า | น้อยกว่า |
ความเจ็บปวด | มากกว่า | น้อยกว่า |
วันที่เริ่มเดิน | 4-7 วันหลังผ่าตัด | 1-2 วันหลังผ่าตัด |
ระยะเวลาที่นอนโรงพยาบาล | 7-14 วันหลังผ่าตัด | 3-7 วันหลังผ่าตัด |
การออกกายบริหารภายหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม
การออกการบริหารหลังการผ่าตัดเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้การเคลื่อนไหวและความแข็งแรงค่อยๆกลับมาดีดังเดิม เพื่อที่จะสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้อย่างปกติ แพทย์มักจะแนะนำให้ทำกายบริหารในท่าที่กำหนดต่อเนื่องเป็นเวลา 20-30 นาที วันละ 2-3 ครั้ง ต่อวันในช่วงแรกหลังการผ่าตัด
กายบริหารในช่วงแรกหลังผ่าตัด
การออกกายบริหารนี้จะช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปบริเวณขาและเท้าเพื่อป้องกันการเกิดก้อนเลือดอุดตัน อีกทั้งยังสำคัญในการช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและการเคลื่อนไหวของข้อสะโพก การออกกายบริหารนี้สามารถเริ่มทำได้ตั้งแต่อยู่ในห้องพักฟื้นในโรงพยาบาลช่วงแรกหลังการผ่าตัด ในช่วงเริ่มต้นอาจจะรู้สึกไม่ค่อยสบายแต่การทำกายบริหารจะช่วยให้ฟื้นตัวได้เร็วขึ้นและลดอาการปวดหลังการผ่าตัด ท่ากายบริหารต่อไปนี้ควรทำในท่านอนและแยกขาออกเล็กน้อย
Ankle Pumps – ค่อยๆกระดกเท้าลงและขึ้นช้าๆ ท่านี้ควรทำบ่อยๆทุก 5 หรือ 10 นาที โดยสามารถเริ่มทำได้ตั้งแต่หลังผ่าตัดจนกระทั่งฟื้นตัวเต็มที่
|
|
Ankle Rotations – หมุนเท้าเข้าหาเท้าอีกข้าง แล้วค่อยๆหมุนออกไกลจากเท้าอีกข้าง ทำซ้ำ 5 ครั้ง ในแต่ละทิศทาง ทำท่านี้ 3-4 รอบต่อวัน
|
ท่าต่อไปนี้ควรทำซ้ำ 10 ครั้ง ทำบ่อย 3-4 รอบต่อวัน
Bed-Supported Knee Bends – เลื่อนส้นเท้าเข้าหาสะโพก งอเข่า พยายามยึดส้นเท้าให้วางบนเตียงตลอดเวลา ระวังอย่าให้หัวเข่าหมุนเข่าด้านใน
|
|
Buttock Contractions – เกร็งกล้ามเนื้อสะโพกพยายามค้างไว้นับ 1-5
|
|
Abduction Exercise – เลื่อนขากางออกให้กว้างที่สุดเท่าที่จะทำได้และเลื่อนกลับ
|
|
Quad Set – เกร็งกล้ามเนื้อต้นขาและพยายามยืดเข่าให้ตรงที่สุด ค้างไว้ 5-10 วินาที ทำท่านี้ซ้ำ 10 ครั้ง ในช่วงเวลา 10 นาที ทำต่อเนื่องไปจนกระทั่งรู้สึกกล้ามเนื้อต้นขาล้า
|
|
Straight Leg Raises – เกร็งกล้ามเนื้อต้นขาและพยายามยืดเข่าให้ตรงที่สุดบนเตียง ในขณะที่เกร็งต้นขาค่อยๆยกขาขึ้นจากเตียงสูง 2-3 นิ้ว ค้างไว้ 5-10 วินาที แล้วค่อยๆวางลง ทำต่อเนื่องไปจนกระทั่งรู้สึกกล้ามเนื้อต้นขาล้า
|
Standing Exercise – ทันทีหลังการผ่าตัดควรลุกจากเตียงและสามารถยืนได้ อาจจำเป็นต้องมีคนช่วยเนื่องจากอาจจยังรู้สึกเวียนหัวในครั้งแรกๆที่ยืน หลังจากที่แข็งแรงขึ้นก็จะสามารถยืนได้เองโดยไม่จำเป็นต้องมีคนช่วย ในการยืนควรมีทียึดจับที่มั่นคงเสมอ
Ankle Pumps – ค่อยๆกระดกเท้าลงและขึ้นช้าๆ ท่านี้ควรทำบ่อยๆทุก 5 หรือ 10 นาที โดยสามารถเริ่มทำได้ตั้งแต่หลังผ่าตัดจนกระทั่งฟื้นตัวเต็มที่
|
|
Ankle Pumps – ค่อยๆกระดกเท้าลงและขึ้นช้าๆ ท่านี้ควรทำบ่อยๆทุก 5 หรือ 10 นาที โดยสามารถเริ่มทำได้ตั้งแต่หลังผ่าตัดจนกระทั่งฟื้นตัวเต็มที่
|
|
Ankle Pumps – ค่อยๆกระดกเท้าลงและขึ้นช้าๆ ท่านี้ควรทำบ่อยๆทุก 5 หรือ 10 นาที โดยสามารถเริ่มทำได้ตั้งแต่หลังผ่าตัดจนกระทั่งฟื้นตัวเต็มที่
|
การเดินและการเคลื่อนไหวหลังผ่าตัด
ทันทีที่รู้สึกสบายขึ้นหลังผ่าตัด จะต้องเริ่มเดินระยะสั้นๆในห้องพักและเคลื่อนไหวทำกิจวัตรประจำวันเบาๆ การเริ่มเคลื่อนไหวตั้งแต่ในระยะแรกๆจะช่วยด้านความแข็งแรงและการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อสะโพก
การเดินด้วยเครื่องช่วยเดินแบบสี่ขา/เดินลงน้ำหนักเต็มเท้า – ยืนตัวตรงสบายๆโดยทิ้งน้ำหนักให้สมดุลบนเครื่องช่วยเดิน ขยับเครื่องช่วยเดินไปข้างหน้าเล็กน้อยแล้วเคลื่อนตัวตาม โดยยกขาข้างที่ทำการผ่าตัดและวางส้นเท้าลงก่อน ขณะที่ขยับไปข้างหน้าเข่าและข้อเท้าจะงอ สุดท้ายเท้าทั้งสองข้างวางคู่กับบนพื้น เมื่อก้าวโดยสมบูรณ์สามารถยกหัวแม่เท้าขึ้นจากพื้น ขยับเครื่องช่วยเดินไปข้างหน้าอีกครั้ง เข่าและสะโพกจะยื่นไปข้างหน้าเพื่อจะก้าวต่อไป พยายามเดินให้ราบเรียบที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่ต้องรีบ เมื่อกล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้นก็จะสามารถเดินได้เร็วขึ้นเอง อีกทั้งยังสามารถลงน้ำหนักได้มากขึ้นเรื่อยๆเป็นลำดับ
การเดินด้วยไม้ค้ำยัน – เครื่องช่วยเดินแบบสี่ขา (walker) มักใช้ในช่วง 2-3 สัปดาห์แรกเท่านั้นเพื่อช่วยสมดุลและหลีกเลี่ยงการหกล้ม หลังจากนั้นก็จะเปลี่ยนมาใช้ไม้เท้าค้ำยัน (cane) จนกระทั่งความแข็งแรงและการสมดุลร่างกายกลับมาเป็นอย่างเดิม ควรใช้ไม้ค้ำยันในมือด้านตรงข้ามกับข้างที่ทำการผ่าตัด ผู้ป่วยที่พร้อมจะเปลี่ยนมาใช้ไม้ค้ำยันก็ต่อเมื่อสามารถยืนและสมดุลร่างกายอยู่ได้เองโดยลงน้ำหนักบนเท้าทั้ง 2 ข้าง และไม่ต้องยึดหรือเทน้ำหนักลงบนเครื่องช่วยเดิน
การเดินขึ้นและลงบันได – ความสามารถในการขึ้นและลงบันได ต้องอาศัยทั้งความยืดหยุ่นและความแข็งแรง ในช่วงแรกจำเป็นต้องยึดจับราวบันไดและก้าวที่ละขั้น ใช้ขาข้างที่ดีนำในขณะขึ้นบันได แต่ใช้ข้างที่ผ่าตัดนำในขณะลงบันไดเสมอ จำไว้ว่า “ขึ้นด้วยดี” และ “ลงด้วยแย่” อาจจำป็นต้องมีคนช่วยพยุงจนกว่าความแข็งแรงและความคล่องตัวจะกลับคืนมา การขึ้นบันไดเป็นการเสริมสร้างความแข็งแรงที่ดีเยี่ยม แต่อย่าพยายามเดินขึ้นบันไดที่สูงกว่ามาตรฐาน 7 นิ้วและใช้ราวจับช่วยเสมอ
การออกกายบริหารและการเคลื่อนไหวขั้นก้าวหน้า
การฟื้นตัวจนสมบูรณ์หลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมอาจจะใช้เวลาหลายเดือน ทั้งนี้เพราะความปวดภายหลังการผ่าตัดรวมถึงการผ่าตัดซึ่งต้องมีการตัดผ่านเนื้อเยื่อและกล้ามเนื้อ อาจจะทำให้กล้ามเนื้อบริเวณข้อสะโพกมีการอ่อนแรงลงได้ ซึ่งการออกกายบริหารภายหลังการผ่าตัดจะช่วยให้ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อกลับมาได้อย่างสมบูรณ์ การฝึกกายบริหารดังต่อไปนี้ควรทำเป็นชุด แต่ละชุดทำซ้ำๆ 10 ครั้ง วันละ 4 ครั้ง โดยผูกขาข้างที่ผ่าตัดไว้กับสายยางยืดและที่ปลายอีกข้างยึดไว้กับประตูหรือเครื่องเรือนที่มั่นคง ขณะออกกายบริหารควรมีเก้าอี้หรือราวจับช่วยทรงตัว การออกกายบริหารด้วยสายยางยืด มี 3 ท่า
1. ออกแรงต้านการงอของสะโพก – ยืนบนขาทั้งสองข้างโดยให้แยกออกจากันเล็กน้อย ยื่นขาข้างที่ผ่าตัดไปข้างหน้าโดยเกร็งเข่าให้ตึงไว้ตลอดเวลา จากนั้นค่อยๆปล่อยขากลับไปสู่ตำแหน่งเดิม การทำท่านี้ทำให้กล้ามเนื้อที่ช่วยในการงอของข้อสะโพกแข็งแรงขึ้น
2. ออกแรงต้านการกางของสะโพก – ยืนหันข้างให้ประตูหรือเก้าอี้แล้วกางขาข้างที่ผ่าตัดออกไปด้านข้าง เกร็งเข่าให้เยียดตรงไว้ตลอดเวลา จากนั้นค่อยๆปล่อยขากลับสู่ตำแหน่งเดิม
3. ออกแรงต้านการเหยียดของสะโพก – ยืนหันหน้าเข้าหาประตูหรือเก้าอี้ที่ผูกยางยืดไว้ ดึงขามาทางด้านหลังตรงๆ จากนั้นค่อยๆปล่อยขากลับสู่ตำแหน่งเดิม
การปั่นจักรยานอยู่กับที่ – การปั่นจักรยานเป็นการออกกายบริหารที่ดีเยี่ยมที่ช่วยเพิ่มความแข็งแรงและการเคลื่อนไหวของสะโพก ปรับความสูงของที่นั่งให้เท้าแตะพอดีกับแป้นถีบโดยเข่าเกือบเหยียดตรง ปั่นหมุนมาด้านหลังในตอนแรก เปลี่ยนมาปั่นหมุนไปด้านหน้าเมื่อรู้สึกสบายเมื่อปั่นหมุนมาด้านหลัง เมื่อแข็งแรงขึ้นภายหลัง 4-6 สัปดาห์ ก็สามารถเพิ่มแรงต้านในการปั่นได้ ใช้เวลา 10-15 นาที 2 ครั้งต่อวัน และค่อยเพิ่มเป็น 20-30 นาที 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์
การเดิน – ใช้ไม้ค้ำยันเสมอจนกว่าสมดุลการทรงตัวกลับคืนมา ในช่วงเริ่มต้นให้เดินประมาณ 5-10 นาที ประมาณ 3-4 ครั้งต่อวัน เมื่อความแข็งแรงเพิ่มมากขึ้นสามารถเดินเพิ่มขึ้นเป็น 20-30 นาที 2-3 ครั้งต่อวัน และเมื่อฟื้นตัวเต็มที่ สามารถเดินได้ 20-30 นาที 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์จะช่วยคงความแข็งแรง
การปฎิบัติตัวภายหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม
ภายหลังจากการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมเสร็จใหม่ๆ คนไข้จำเป็นต้องเรียนรู้วิธีปรับตัวเพื่อปฎิบัติกิจวัตรประจำวันต่างๆให้ได้เป็นอย่างดี โดยต้องทราบถึงข้อควรปฏิบัติ ข้อห้าม ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัย ตัวอย่างคนไข้ผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมข้างซ้าย
การลงจากเตียง
ขั้นที่ 1 เขยิบตัวลงจากเตียง โดยไปยังด้านเดียวกันกับขาข้างที่ทำผ่าตัด
|
|
ขั้นที่ 2
เลื่อนสะโพกโดยใช้ข้อศอกช่วยดัน ขณะที่เขยิบขาข้างที่ผทำผ่าตัดลงมาข้างๆเตียง พยายามทำให้ทำลำตัวตั้งตรง และห้ามบิดหรือหมุนขา
|
|
ขั้นที่ 3
เคลื่อนขาข้างที่ไม่ได้ทำผ่าตัดมาไว้ข้างๆ ขาข้างที่ผ่านการผ่าตัด และนั่งลงบนขอบเตียง พยายามทำให้ขาข้างที่ทำผ่าตัดเหยียดตรง จับเครื่องช่วยเดิน 4 ขา (วอกเกอร์) เพื่อช่วยรองรับน้ำหนักขณะที่ยืนขึ้น
|
การเดิน
ขั้นที่ 1
ยืนตัวตรงสบายๆโดยทิ้งน้ำหนักให้สมดุลบนเครื่องช่วยเดินขยับเครื่องช่วยเดินไปข้างหน้า
|
|
ขั้นที่ 2 เคลื่อนตัวตาม โดยยกขาข้างที่ทำผ่าตัดก้าวนำ
|
|
ขั้นที่ 3
โน้มตัวไปข้างหน้า และปล่อยให้วอกเกอร์ รับน้ำหนักตัวของท่าน ก้าวเท้าข้างที่ไม่ได้ผ่าตัดตามไปข้างหน้าจนเท้าทั้งสองข้างเสมอกัน
|
การนั่งลง
โน้มตัวไปข้างหน้า และปล่อยให้วอกเกอร์ รับน้ำหนักตัวของท่านก้าวเท้าข้างที่ไม่ได้ผ่าตัดตามไปข้างหน้าจนเท้าทั้งสองข้างเสมอกัน ควรนั่งในท่านั่งที่มั่นคงคือ หลังแนบพนักพิง มือจับพนักเท้าแขนทั้งสองข้าง ควรหลีกเลี่ยงเก้าอี้ที่เตี้ยมากๆ(ที่ทำให้เข่าต้องงอเกิน 90 องศา) หรือเก้าอี้ที่บุนวมหนา
ขั้นที่ 1
จับเครื่องช่วยเดิน 4 ขา (วอกเกอร์) เอาไว้ จนกระทั่งรู้สึกว่าเก้าอี้สัมผัสถูกน่องทั้งสองข้าง
|
|
ขั้นที่ 2
ค่อยปล่อยมือจากวอกเกอร์ และย่อตัวลงต่ำ เคลื่อนมือมากจับพนักเท้าแขนทั้งสองข้าง จากนั้นพยายามทำให้ขาข้างที่ทำผ่าตัดเหยียดตรง และเหยียดไปข้างหน้า
|
|
ขั้นที่ 3
นั่งลง และเขยิบตัวไปทางด้านหลังให้ชิดพนักพิง งอขาข้างที่ไม่ได้ผ่าตัดก่อน
|
ไม้ยันรักแร้
เมื่อกล้ามเนื้อขาแข็งแรงขึ้น แพทย์จะแนะนำให้ปลี่ยนจากการใช้เครื่องช่วยเดินสี่ขาเป็นไม้ยันรักแร้
ขั้นที่ 1 จับไม้ยันรักแร้ให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมและมั่นคง ใช้กำลังจากแขนของพยุงไม้ยันรักแร้ ไม่ควรใช้กำลังจากบริเวณแขนหนีบ
|
|
ขั้นที่ 2 ก้าวเท้าข้างที่ทำผ่าตัด ในจังหวะเดียวกันกับการเคลื่อนไม้ยันรักแร้ทั้งสองข้างไปข้างหน้า
|
|
ขั้นที่ 3 เงยหน้าและมองไปข้างหน้า ก้าวเท้าข้างที่ไม่ได้ผ่าตัดตามออกไป
|
|
การเดินขึ้นบันไดโดยใช้ไม้ยันรักแร้
วางไม้เท้าทั้งสองข้างให้ตรง และมั่นคง เพื่อรองรับน้ำหนักของร่างกาย ยกเท้าข้างที่ไม่ได้รับการผ่าตัดขึ้น และวางไปบนบันไดขั้นแรก โน้มตัวไปข้างหน้า โดยใช้ไม้เท้าทั้งสองข้างและเท้าข้างที่ไม่ได้รับการผ่าตัด เป็นเครื่องช่วยรับน้ำหนักตัว จากนั้นยกเท้าข้างที่ทำผ่าตัดขึ้นและวางไว้ที่ขั้นบันได
|
|
การเดินลงบันไดโดยใช้ไม้ยันรักแร้
ก้าวเท้าข้างที่ทำผ่าตัดลงในจังหวะเดียวกันกับการ เคลื่อนไม้เท้าทั้งสองข้างลงไปบนบันไดขั้นที่อยู่ต่ำลงไป ใช้ไม้เท้าทั้งสองข้างเพื่อให้เกิดความสมดุล และรองรับน้ำหนักตัวขณะก้าวลงบันได
|
หลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวที่มีความเสี่ยง
ในระยะแรก การเคลื่อนไหวบางท่าจะทำให้ข้อสะโพกเทียมหลุดจากเบ้าสะโพกได้
การนั่ง
อย่า นั่งไขว้ห้าง หรือวางเท้าข้างที่ทำผ่าตัดข้ามแนวกลางลำตัว ควร นั่งโดยให้เท้าทั้งสองข้างวางอยู่บนพื้น โดยให้หัวเข่าทั้งสองข้างห่างจากกันประมาณ 6 นิ้ว
การหมุนตัว
อย่า หมุนเท้าข้างใดข้างหนึ่งเข้าข้างใน ควร หมุนเท้าทั้งสองข้างพร้อมทั้งลำตัวไปพร้อมๆ กัน
การก้มตัวลงข้างล่าง
อย่า โค้งตัวลงเพื่อเก็บของที่อยู่บนพื้น ควร ใช้อุปกรณ์ที่มีด้ามยาวช่วยเก็บของที่อยู่บนพื้น
กระดูกสะโพกหักรักษาได้
กระดูกสะโพกหัก (Hip fracture) เป็นภาวะที่พบบ่อยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มของผู้สูงอายุ จัดได้ว่าเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย
กระดูกสะโพกหักเกิดขึ้นได้อย่างไร?
ในผู้สูงอายุซึ่งมักพบว่ามีภาวะกระดูกพรุน (Osteoporosis) ร่วมอยู่ด้วยนั้น การหกล้มสะโพกกระแทกกับพื้นที่ไม่รุนแรงมากนักก็สามารถทำให้กระดูกสะโพกหักได้ ซึ่งแตกต่างจากในกลุ่มคนหนุ่มสาวกระดูกแข็งแรงที่มักเกิดจากอุบัติเหตุทางจราจรที่รุนแรงจริงๆเท่านั้น
กระดูกพรุนคืออะไร?
“โรคกระดูกพรุน” หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “โรคกระดูกโปร่งบาง” เป็นโรคที่เกิดจากความหนาแน่นของกระดูกมีน้อยลง หรือมีความผิดปกติที่โครงสร้างของกระดูก ทำให้กระดูกเปราะกว่าปกติ จึงเกิดการหักได้ง่ายแม้จะมีแรงมากระทำที่ไม่รุนแรงมาก ผู้ป่วยด้วยโรคนี้มักไม่ค่อยมีอาการแสดงให้เห็น จึงถือว่าเป็นภัยเงียบที่สำคัญสำหรับคนสูงอายุ แต่ในคนไข้บางคนก็อาจมีอาการแสดงให้เห็นบ้าง เช่น หลังโก่งมากขึ้น หรือมีอาการปวดหลังเรื้อรัง เป็นต้น คนที่มีความเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุน มักเป็นผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน คนที่มีรูปร่างผอมบาง ขาดแคลเซียมและวิตามินดี สูบบุหรี่และขาดการออกกำลังกาย การตรวจหาโรคกระดูกพรุนที่นิยมทำกันในปัจจุบัน โดยการตรวจด้วยเครื่องวัดมวลกระดูก การตรวจก็ไม่ยุ่งยาก ไม่เจ็บตัวและรู้ผลได้รวดเร็ว คนที่มีความเสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุนก็ควรตรวจสักปีละ 1 ครั้ง คุณสามารถป้องกันภาวะนี้ได้ด้วยการรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น นม หรีอ ปลาเล็กปลาน้อย หรือยาแคลเซียมที่แพทย์จ่ายให้ และออกกำลังกายสม่ำเสมอ โดยควรออกกำลังกายให้ได้รับแสงแดดอ่อนๆตอนเช้าหรือตอนเย็นๆ นอกจากนี้ในคนไข้ที่เป็นโรคกระดูกพรุนแล้ว แพทย์อาจจ่ายยาที่ช่วยเพิ่มความหนาแน่นของกระดูกให้ทานด้วย
กระดูกสะโพกหักมีกี่แบบ?
กระดูกสะโพกหักสามารถแบ่งได้คร่าวๆเป็น 2 แบบด้วยกัน
1. กระดูกคอสะโพกหัก (Femoral neck fracture) เป็นการหักตรงตำแหน่งคอของกระดูกสะโพก ทำให้ส่วนหัวและก้านของกระดูกสะโพกแยกจากกัน วิธีการรักษาขึ้นอยู่กับอายุของคนไข้ และความมากน้อยในการเคลื่อนออกจากกันของส่วนหัวและก้านของกระดูกสะโพก
2. กระดูกฐานคอสะโพกหัก (Intertrochanteric fracture) เป็นการหักตรงตำแหน่งฐานคอของกระดูกสะโพก หรือส่วนที่อยู่ต่ำกว่าคอสะโพกลงมา การรักษามักมีความยุ่งยากน้อยกว่ากระดูกคอสะโพกหัก โดยใช้การดามด้วยโลหะชนิดพิเศษ
ใครบ้างที่มีความเสี่ยงสูงต่อภาวะกระดูกสะโพกหัก?
คนที่มีความเสี่ยงสูงต่อภาวะกระดูกสะโพกหัก นอกจากคนสูงอายุที่มีภาวะกระดูกพรุนแล้ว ปัจจัยเหล่านี้จะเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อภาวะนี้
- คนที่ดื่มแอลกอฮอล์และกาแฟมากๆเป็นประจำ
- คนที่มีกล้ามเนื้อไม่แข็งแรงทรงตัวไม่ดี
- คนที่มีรูปร่างผอมบาง
- คนที่มีปัญหาสายตา เพราะเสี่ยงต่อการล้มได้ง่าย
- คนที่สูบบุหรี่มากแป็นประจำ
- คนสูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม
กระดูกสะโพกหักรักษาได้อย่างไร?
กระดูกสะโพกหักส่วนใหญ่รักษาได้ด้วยวิธีผ่าตัด ทั้งนี้เนื่องมาจากการที่กระดูกสะโพกมีความสำคัญอย่างมากในการยืนและเดิน และการรักษาโดยวิธีไม่ผ่าตัดจะมีโอกาสที่กระดูกจะไม่ติดสูง รวมถึงต้องใช้เวลานาน การรักษาโดยการผ่าตัดจะทำให้คนไข้ลุกเดินและช่วยเหลือตนเองได้เร็วกว่า โอกาสที่จะมีโรคแทรกซ้อนอันเนื่องมาจากการนอนอยู่บนเตียง เช่น แผลกดทับ หรือติดเชื้อก็จะลดลง การผ่าตัดเพื่อรักษากระดูกสะโพกหัก มี 2 วิธี
1. การดามด้วยโลหะชนิดพิเศษ โดยแพทย์จะลงแผลผ่าตัดที่บริเวณสะโพก หลังจากนั้นจะจัดให้กระดูกที่หักกลับมาอยู่ในตำแหน่งเดิมแล้วเชื่อมต่อกระดูกที่หักนั้นเข้าด้วยกันโดยใช้แผ่นเหล็กและโลหะจำพวกสกรู หลังผ่าตัดผู้ป่วยสามารถเคลื่อนไหวได้เร็วตั้งแต่วันแรกๆหลังผ่าตัด แต่การลงน้ำหนักหลังผ่าตัดช่วงแรกอาจลงน้ำหนักได้ไม่เต็มที่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงและลักษณะของกระดูกที่หัก รวมถึงความมั่นคงของโลหะที่ดามด้วย ทั้งนี้แพทย์ที่ทำผ่าตัดจะแจ้งให้คนไข้ทราบ ท่านควรปฎิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ส่วนใหญ่แล้วกระดูกสามารถติดดีเต็มที่ในระยะเวลาประมาณ 3 เดือน
2. การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมบางส่วน (Hip hemiarthroplasty) หรือการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมเฉพาะส่วนก้านและหัวเท่านั้นโดยไม่ได้ทำเบ้าสะโพกเทียม แพทย์จะพิจารณาทำผ่าตัดด้วยวิธีนี้ในคนไข้ที่อายุมากกว่า 60-65 ปี หรือในกรณีที่กระดูกสะโพกหักมีการเคลื่อนไปมากซึ่งการรักษาโดยวิธีดามด้วยโลหะทำไม่ได้หรือแพทย์พิจารณาดูแล้วว่ามีผลเสียต่อคนไข้มากกว่าการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม ทั้งนี้แพทย์อาจพิจารณาทำผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมแบบเต็มข้อ (Total hip arthroplasty) คือมีการเปลี่ยนเบ้าสะโพกเทียมร่วมด้วยในกรณีที่คนไข้มีภาวะข้อสะโพกเสื่อมอยู่ก่อนที่จะมีกระดูกสะโพกหัก เพื่อทำให้ภายหลังผ่าตัดคนไข้จะสามารถลงน้ำหนักและเคลื่อนไหวข้อสะโพกได้โดยไม่เจ็บปวด
หลังผ่าตัดรักษากระดูกสะโพกหักมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนอะไรบ้าง?
เนื่องจากกระดูกหักชนิดนี้มักพบในผู้สูงอายุ ซึ่งมักมีโรคประจำตัวหลายอย่าง หรือมีสุขภาพโดยรวมที่ไม่แข็งแรง ดังนั้นจึงมีโอกาสที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่ายกว่าคนหนุ่มสาว ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น การติดเชื้อ การเกิดภาวะหลอดเลือดดำอุดตัน หรือการที่ผู้ป่วยไม่สามารถลุกเดินได้ในเวลาอันรวดเร็ว ทั้งนี้ถึงแม้ว่าผลการรักษาโดยรวมส่วนใหญ่จะอยู่ในเกณฑ์ที่ดีก็ตาม
หลังผ่าตัดรักษากระดูกสะโพกหักต้องทำอะไรบ้าง?
การเคลื่อนไหวลุกเดินหลังผ่าตัด การทำกายภาพบำบัดหลังผ่าตัด และข้อควรระวังหลังผ่าตัด รวมถึงการติดตามรักษาหลังผ่าตัดกับแพทย์เป็นเช่นเดียวกับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม นอกจากนี้คนไข้ยังต้องได้รับการดูแลรักษาภาวะกระดูกพรุน และดูแลสภาพแวดล้อมที่บ้านเพื่อไม่ให้เกิดการล้มได้ง่ายอันจะนำมาซึ่งการเกิดกระดูกหักซ้ำอีกด้วย