การผ่าตัดเปลี่ยนข้อศอกเทียม

การผ่าตัดเปลี่ยนข้อศอกเทียม (Total elbow arthroplasty) เป็นการผ่าตัดเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีข้อเสื่อมในระยะสุดท้าย ที่ผิวข้อถูกทำลายไปมาก มีอาการเจ็บปวดทรมาน และไม่สามารถเหยียดงอข้อศอกเพื่อประกอบกิจวัตรประจำวันตามปกติได้ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยลดความเจ็บปวดและทำให้การทำงานของข้อศอกกลับมาเป็นปกติ ผู้ที่เหมาะสมต่อการผ่าตัดชนิดนี้ ได้แก่ ผู้ป่วยโรครูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis) ที่มีข้อเสื่อมในระยะสุดท้าย ผู้ป่วยข้อเสื่อมที่เกิดภายหลังกระดูกข้อศอกหัก (Traumatic arthritis) รวมถึงผู้ป่วยที่มีข้อเสื่อมที่เกิดภายหลังการผ่าตัดอื่นที่บริเวณข้อศอก ทั้งนี้พบว่าผู้ป่วยที่มีปัญหาที่บริเวณข้อศอกจนต้องผ่าตัดเพื่อเปลี่ยนข้อศอกเทียมนั้นพบมากที่สุดในกลุ่มของผู้ป่วยโรครูมาตอยด์

1 A

เตรียมพร้อมก่อนผ่าตัดเปลี่ยนข้อศอกเทียม

ข้อพิจารณาก่อนผ่าตัดเปลี่ยนข้อศอกเทียม การผ่าตัดเปลี่ยนข้อศอกเทียมเป็นการผ่าตัดที่ช่วยให้โอกาสแก่ผู้ป่วยที่มีปัญหาข้อเสื่อมที่บริเวณข้อศอกให้กลับมาใช้งานข้อศอกได้อย่างดีพอสมควร ลดความเจ็บปวดทรมานของผู้ป่วย ทำให้การเคลื่อนไหวของข้อศอกมีความมั่นคงสูงขึ้น ทั้งนี้ถึงแม้ว่าข้อศอกเทียมจะไม่เหมือนข้อศอกจริงก่อนที่จะมีข้อเสื่อม แต่ข้อศอกเทียมก็สามารถใช้งานได้ดีใกล้เคียงกับข้อศอกจริงและสามารถเหยียดงอได้โดยไม่เจ็บปวด ทั้งนี้ผลการผ่าตัดจะดีมากน้อยเพียงใด นอกจากขึ้นอยู่กับความเชี่ยวชาญของแพทย์ผู้ทำผ่าตัดแล้ว ความตั้งใจที่จะปฎิบัติตัวภายหลังผ่าตัดของผู้ป่วยก็มีความสำคัญมากไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เตรียมตัวก่อนผ่าตัดเปลี่ยนข้อศอกเทียม ผู้ป่วยควรเตรียมสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงพร้อมสำหรับการผ่าตัด ควรดงดสูบบุหรี่อย่างน้อย 3 เดือนก่อนและหลังการผ่าตัด แพทย์จะตรวจร่างกายอย่างละเอียดเพื่อให้แน่ใจว่าผู้ป่วยพร้อมสำหรับการผ่าตัดนี้ ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบถึงโรคประจำตัวที่เป็นอยู่ ยาที่รับประทานอยู่เป็นประจำ รวมถึงประวัติการแพ้ยาและอาหาร ผู้ป่วยควรเตรียมความพร้อมทั้งในเรื่องของเวลาหลังการผ่าตัดเนื่องจากการทำงานของข้อศอกอาจจะไม่สะดวกมากเท่าที่ควรในระยะเวลาหลังผ่าตัดประมาณ 1- 3 เดือน

ผ่าตัดเปลี่ยนข้อศอกเทียมทำอย่างไร

การผ่าตัดเปลี่ยนข้อศอกเทียมเป็นการผ่าตัดที่ต้องการความเชี่ยวชาญของแพทย์ผู้ทำผ่าตัดเป็นอย่างสูง เพราะถ้าผิดพลาดแม้เพียงเล็กน้อยในแต่ละขั้นตอนของการทำผ่าตัดจะส่งผลเสียต่อผลของการผ่าตัด

แพทย์จะลงแผลผ่าตัดยาวประมาณ 10-12 เซนติเมตรที่บริเวณข้อศอกด้านหลัง แพทย์จะตกแต่งกระดูกข้อศอกเพื่อให้รับพอดีกับข้อศอกเทียมที่ทำมาจากโลหะชนิดพิเศษ มีลักษณะคล้ายบานพับ หลังจากนั้นแพทย์จะใส่ข้อศอกเทียมเข้าไว้ในแกนกระดูกข้อศอกและยึดติดไว้ด้วยซีเมนต์พิเศษทางการแพทย์ หลังจากนั้นแพทย์จะทำการทดสอบความมั่นคงของข้อ มุมงอเหยียดให้ได้เป็นอย่างดี แล้วจะทำการปิดแผลผ่าตัดให้เรียบร้อย รวมระยะเวลาในการผ่าตัดประมาณ 2 ชั่วโมง

3 1
ข้อศอกปกติ
3 2
ข้อเสื่อมจากโรครูมาตอยด์
3 3
ข้อศอกเทียม

การฟื้นตัวภายหลังผ่าตัด

เนื่องจากการผ่าตัดเปลี่ยนข้อศอกเทียมเป็นการผ่าตัดใหญ่ หลังผ่าตัดแพทย์จะให้ยาควบคุมความปวดเป็นอย่างดี ผู้ป่วยจะได้รับการดูแลในเรื่องสัญญาณชีพ และความดันโลหิต รวมถึงปริมาณเลือดและสารน้ำในร่างกาย ผู้ป่วยควรพยายามเคลื่อนไหวงอเหยียดข้อศอกให้เร็วที่สุดท่าที่สามารถทำได้ ในวันที่ 2 หลังการผ่าตัดผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเริ่มหัดงอเหยียดข้อศอกได้ แพทย์จะสอนท่าการบริหาร ได้แก่ การงอ การเหยียด การหงายมือ และ การคว่ำมือ โดยที่ผู้ป่วยจะต้องพยายามเพิ่มขีดความสามารถในการงอเหยียดข้อศอกให้เพิ่มขึ้นวันต่อวันจนกระทั่งสามารถงอเหยียดข้อศอกและคว่ำมือหงายมือได้สุด ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะสามารถกลับบ้านได้ในราววันที่ 3-4 หลังการผ่าตัด ทั้งนี้ก่อนกลับบ้านผู้ป่วยจะต้องมีเงื่อนไขต่อไปนี้

  • แผลผ่าตัดแห้งสะอาดดี
  • ข้อศอกไม่ปวดมาก สามารถควบคุมได้ด้วยยาแก้ปวดชนิดรับประทาน
  • เข้าใจและสามารถทำกายภาพบำบัดในเรื่องของการงอเหยียดข้อศอกได้ด้วยตนเองเป็นอย่างดี
  • สามารถช่วยเหลือตนเองได้ตามความเหมาะสม
4 1
ข้อเสื่อมระยะสุดท้ายที่เกิดภายหลังการผ่าตัดที่บริเวณข้อศอก
4 2
ภาพหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อศอกเทียมรูปที่ 1
4 3
ภาพหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อศอกเทียมรูปที่ 2

กายภาพบำบัดที่บ้าน

ระหว่างอยู่ที่บ้าน ผู้ป่วยควรทำกายบริหารด้วยตนเอง โดยเน้นที่มุมงอเหยียดและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อเป็นหลัก ในช่วงเดือนแรกภายหลังผ่าตัด ผู้ป่วยจะรู้สึกว่าใช้แขนข้างที่ผ่าตัดได้ไม่ถนัดนัก โดยอาจยกของเบาๆเช่นแก้วน้ำได้ หลังจาก 2-3 เดือนไปแล้วส่วนใหญ่จะเริ่มยกของที่มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นได้ ทั้งนี้ให้สังเกตุว่าความคล่องตัวในการงอเหยียดและการหยิบจับสิ่งของมีพัฒนาการที่ค่อยๆเพิ่มขึ้นวันต่อวัน โดยอาจใช้ระยะเวลากว่าจะสมบูรณ์เต็มที่เป็นเวลาหลายเดือน

ในระยะยาวแล้วแม้ว่าผู้ที่ทำผ่าตัดเปลี่ยนข้อศอกเทียมไปแล้วจะสามารถงอเหยียดได้เป็นอย่างดี สามารถหยิบจับและยกของที่มีน้ำหนักได้ แต่ก็ควรทะนุถนอมข้อเทียม โดยการหลีกเลี่ยงการกระแทกที่รุนแรง การเล่นกีฬาที่มีการปะทะ หรือการยกของที่หนักเกินกำลัง

สรุป

การผ่าตัดเปลี่ยนข้อศอกเทียม เป็นการผ่าตัดเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีข้อเสื่อมในระยะสุดท้าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยโรครูมาตอยด์ ทําให้กลับมาใช้งานข้อศอกได้เป็นอย่างดี โดยสามารถเคลื่อนไหวข้อศอก งอเหยียดได้ไม่เจ็บปวดและมีความมั่นคงสูงขึ้น ภายใต้มือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ บวกกับความตั้งใจที่จะปฎิบัติตัวภายหลังผ่าตัดของผู้ป่วยจะทำให้ผลของการผ่าตัดได้รับความสำเร็จเป็นอย่างดี