รู้จักข้อเข่า

1

ข้อเข่าเป็นข้อที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย มีลักษณะคล้ายบานพับประตู ประกอบไปด้วยส่วนของกระดูกแข็ง 3 ชิ้น คือ ส่วนปลายของกระดูกต้นขา (femur), ส่วนบนของกระดูกหน้าแข้ง (tibia) และกระดูกลูกสะบ้า (patellar) เป็นโครงสร้างหลัก ยึดอยู่ด้วยกันโดยมีเส้นเอ็น, หมอนรองกระดูกและกล้ามเนื้ออยู่ล้อมรอบ ช่วยในการควบคุมการเคลื่อนไหว รองรับและกระจายน้ำหนักในขณะที่คุณยืนหรือเดิน ส่วนที่มีการเคลื่อนไหวสัมผัสกันจะมีผิวกระดูกอ่อน โดยมีส่วนประกอบหลักส่วนใหญคือ น้ำ ซึ่งถูกดูดชับอยู่ในโครงสร้างที่คล้ายกับฟองน้ำ ที่มีส่วนประกอบขึ้นจากเส้นใยโครงข่ายที่เรียกว่าโปรติโอไกลเคน (Proteoglycan) และคอลลาเจน (Collagen) ผิวกระดูกอ่อนที่สมบูรณ์ดีจะมีสีขาว ลักษณะเรียบเป็นมันคล้ายผิวไข่มุก ผิวกระดูกอ่อนจะคลุมอยู่บริเวณปลายของกระดูกแข็งอีกที

1

เนื่องจากที่ปลายกระดูกแข็งมีเส้นประสาทอยู่มาก ถ้าปราศจากผิวกระดูกอ่อน กระดูกแข็งที่กดทับและเสียดสีกันในขณะที่มีการงอเหยียดเข่า ยืนหรือเดินลงน้ำหนัก จะทำให้เกิดอาการเจ็บปวด กระดูกอ่อนจึงทำหน้าที่เหมือนเป็นหมวกกันน็อกป้องกันไม่ให้กระดูกแข็งที่มีเส้นประสาทอยู่มาชนกัน ทำให้ปกติแล้วเวลาที่มีการงอเหยียดเข่าและเดินลงน้ำหนักคุณจะไม่รู้สึกเจ็บปวดหรือขัดในเข่าเลย

1

นอกจากนี้บริเวณข้อเข่ายังมีสิ่งที่มีลักษณะคล้ายถุงน้ำห่อหุ้มอยู่ ภายในจะมีน้ำหล่อลื่น มีสีใส แต่มีความหนืด ปริมาตรประมาณ 1 มิลลิลิตร ทำหน้าที่เหมือนเป็นจาระบี ช่วยในการหล่อลื่นในขณะเคลื่อนไหว งอหรือเหยียดข้อ อีกทั้งยังช่วยในการรองรับและกระจายน้ำหนักด้วย

ข้อเข่าเสื่อม

ข้อเข่าเสื่อม (Osteoarthritis of the Knee, OA knee) เป็นโรคที่เกิดจากการสึกกร่อนของผิวกระดูกอ่อนของข้อเข่าอันเนื่องมาจากความเสื่อมตามอายุขัยและการใช้งานมาก ทำให้มีการขัดสีและถลอกของผิวกระดูกอ่อนที่หุ้มอยู่รอบเข่าจนถึงเนื้อกระดูก เปรียบเทียบได้กับกระเบื้องที่ปูพื้นบ้านมีการหลุดลอกจากพื้นบ้านของเรา เมื่อไม่มีผิวกระดูอ่อนมาห่อหุ้ม เนื้อกระดูกที่มาชนกันขณะรับน้ำหนัก จะทำให้เกิดอาการเจ็บปวด

1

แต่ถ้ามีบางบริเวณหรือบางส่วนที่มีการซ่อมแซมตัวเองและพอกตัวหนาขึ้นมากกว่าเดิม เกิดเป็นกระดูกงอกขรุขระขึ้นภายในข้อ ก็จะทำให้การเคลื่อนไหวติดขัดและมีเสียงดัง ในคนไข้ที่มีอาการมากแล้ว พบว่ากระดูกที่มีการงอกผิดปกติหรือมีการสึกกร่อนไปมาก จะไปทำให้แนวแกนขาของคนไข้ผิดปกติไปจากเดิม โดยอาจมีการโก่งเข้าด้านในหรือเกบิดออกนอกซึ่งเป็นสาเหตุทำให้การรับน้ำหนักของข้อเข่าผิดปกติได้

1

โรคข้อเข่าเสื่อมเป็นคนละโรคกับโรคข้อที่มีภาวะข้ออักเสบเช่น รูมาตอยด์, เกาต์ ซึ่งจะมีปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคและอาการแตกต่างกันไป แต่โรคที่มีภาวะที่มีการอักเสบของข้อเหล่านี้ ก็เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคข้อเข่าเสื่อมตามมาได้

ปัจจัยเสี่ยงของโรคข้อเข่าเสื่อม

โอกาสที่คุณจะเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมจะเพิ่มมากขึ้นตามอายุ เนื่องจากหลายปัจจัยที่ทำให้สมดุลระหว่างการสร้างและการทำลายผิวกระดูกอ่อนเของเข่าเสียไป ทำให้สูญเสียผิวกระดูกอ่อนไปเรื่อยๆ โดยปกติข้อเข่าเสื่อมมักจะเริ่มเกิดขึ้นครั้งแรกตอนอายุประมาณ 30 ถึง 40 ปี โดยที่อาการอาจจะยังไม่แสดงออกมากนักในระยะแรก แต่เมื่อมีอายุ 50 ปีขึ้นไปก็จะเริ่มมีอาการมากขึ้น ทั้งนี้มีข้อมูลพบว่าโรคข้อเข่าเสื่อมมีความสัมพันธ์กับกรรมพันธุ์อีกด้วย หรือแม้กระทั่งการที่คุณเคยประสบอุบัติเหตุ หรือได้รับการบาดเจ็บบริเวณข้อเข่ามาก่อน ก็อาจเป็นสาเหตุให้คุณมีโอกาสเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมได้เมื่อเวลาผ่านไป ถ้าคุณอ้วนหรือมีน้ำหนักตัวที่มาก ทำให้ข้อเข่าของคุณจะต้องรองรับน้ำหนักหรือแรงที่มากดทับมากขึ้น ทำให้เกิดการสึกกร่อนของผิวกระดูกอ่อนมากยิ่งขึ้น รวมถึงถ้าคุณมีกล้ามเนื้อต้นขาที่ไม่แข็งแรงที่จะมาช่วยในการเคลื่อนไหวงอเหยียดเข่าด้วยแล้ว คุณก็อาจจะพบปัญหาข้อเข่าเสื่อมได้มากกว่าคนอื่น คุณผู้หญิงทั้งหลายต้องระวังโรคนี้มากกว่าคุณผู้ชาย เพราะคุณมีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าผู้ชาย ในเมืองไทยพบว่าคนไข้ที่มีอาการมากถึงขนาดต้องผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียม ร้อยละ 90 เป็นผู้หญิงเนื่องจากปัจจัยความแตกต่างหลายๆอย่าง เช่น ฮอร์โมน ความแข็งแรงของเอ็นและกล้ามเนื้อที่แข็งแรงน้อยกว่า เป็นต้น

อาการของข้อเข่าเสื่อมเป็นอย่างไร

เมื่อคุณเป็นข้อเข่าเสื่อมในระยะเริ่มแรก จะมีอาการปวดบวมที่บริเวณข้อเข่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาเดินหรือขึ้นลงบันได อาการปวดจะเริ่มจากน้อยๆแล้วค่อยปวดมากขึ้น บ่อยขึ้น อาการปวดจะรุนแรงมากขึ้น จนเป็นสาเหตุให้คุณเริ่มเดินได้ระยะทางน้อยลง เนื่องจากมีอาการปวดมากจนเดินไม่ไหว ไม่สามารถลงน้ำหนักบนข้อเข่าได้ ท้ายที่สุดอาจเดินไม่ได้เลย บางครั้งคุณจะรู้สึกว่ามีอาการข้อยึด ซึ่งอาการนี้จะเป็นมากในตอนเช้าๆหรือตอนเริ่มต้นเดินใหม่ๆ อาการข้อยึดติดแข็งที่มากขึ้นเรื่อยๆ จะทำให้มุมที่เข่าสามารถงอเหยียดได้ลดลง ทำให้การเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวันต่างๆ เช่นการลุก-นั่ง ก้าวขึ้น-ลงบันได ก้าวข้ามสิ่งกีดขวาง หรือขึ้น-ลงรถ ทำได้ลำบาก นอกจากนี้อาจมีเสียงดังในเข่าขณะเคลื่อนไหว อาการทั้งหลายเหล่านี้อาจเป็นมากขึ้นหลังจากเดินมากๆหรือเดินขึ้นลงบันได ถ้าคุณไม่ได้รับการรักษาและปล่อยให้ข้อเข่ามีการเสื่อมมากขึ้น จนถึงในระยะที่เป็นรุนแรง ข้อเข่าจะเริ่มมีการโก่งผิดรูปมากขึ้นเรื่อยๆจนเห็นได้ชัด และมีการงอกของกระดูกที่ผิดปกติ จนในที่สุดจะมีอาการปวดมากแม้ขณะที่อยู่เฉยๆ ซึ่งทำให้การประกอบกิจวัตรประจำวันลำบากมากขึ้นจนบางครั้งแทบจะทำไม่ได้เลย

ป้องกันดูแลรักษาตนเองอย่างไร

เมื่อเริ่มมีอาการของข้อเข่าเสื่อมในระยะต้นๆ คุณสามารถดูแลรักษาตัวเองควบคู่ไปกับการรักษาโดยแพทย์ได้โดยการปฏิบัติด้วยวิธีง่ายๆดังต่อไปนี้

  • ควบคุมน้ำหนัก ถ้าคุณรู้ว่าตัวเองอ้วน การลดน้ำหนักจะช่วยลดภาระการรับน้ำหนักของกระดูกผิวข้อ ซึ่งจะช่วยชะลอ ความเสื่อมที่เกิดขึ้น หรือคุณที่ไม่อ้วน ก็ควรจะควบคุมไม่ให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวหรือท่านั่งบางอย่างเช่นการนั่งยองๆ นั่งคุกเข่า นั่งพับเพียบ หรือนั่งขัดสมาธิ ซึ่งข้อเข่ามีการงอพับทำให้เข่าต้องรับแรงกดมากจึงทำให้อาการของโรคเพิ่มขึ้นได้
  • ใช้ไม้เท้าช่วยเดินเวลาที่มีอาการปวดมากและต้องเดินไกลๆ ไม้เท้าจะช่วยแบ่งน้ำหนักที่มาลงบริเวณข้อเข่า
  • ถ้ามีอาการปวด สามารถทานยาแก้ปวดพาราเซตามอล หรือยาที่แพทย์จ่ายให้เป็นครั้งคราวเพื่อบรรเทาอาการ ควรหลีกเลี่ยงการทานยาเหล่านี้ต่อเนื่องเป็นเวลานานกว่า1-2 สัปดาห์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณซื้อมาทานเองโดยไม่ได้อยู่ในความดูแลของแพทย์ เพราะอาจมีผลข้างเคียงบางอย่างได้ การทานยาลดปวดให้ทานเมื่อมีอาการเท่านั้น
  • หมั่นออกกำลังบริหารกล้ามเนื้อรอบข้อเข่า และกล้ามเนื้อต้นขา
1
1
1

การรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมโดยการฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้น (PRP)

การรักษาด้วยการฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้น (Platelet-Rich Plasma) เป็นวิธีการรักษาการบาดเจ็บและซ่อมแซมบริเวณข้อและเนื้อเยื่ออ่อน โดยใช้เกล็ดเลือดของผู้ป่วยที่ความเข้มข้นสูงกว่าเลือดทั่วไปถึง 3 – 4 เท่า วิธีนี้เหมาะกับผู้ป่วยที่มีข้อเข่าเสื่อมระยะต้นถึงปานกลางที่มีความผิดรูปของข้อเข่าไม่มาก หวังผลช่วยลดอาการเจ็บปวดของผู้ป่วยเป็นหลัก

การฉีด PRP ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการรักษาแต่ยังไม่ใช่การรักษาที่เป็นมาตรฐานในปัจจุบัน โดยผู้ป่วยที่เหมาะสมจะรักษาด้วยวิธีนี้ จะต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นหลัก

1

ผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียม

การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียม หรือที่เรียกกันว่าการเปลี่ยนสะบ้าเทียมนั้นเป็นการผ่าตัดเพื่อรักษาผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมที่ผิวข้อสึกหรอไปมากและไม่สามารถประสบความสำเร็จโดยวิธีการรักษาอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานยาหรือการทำกายภาพบำบัด โดยแพทย์จะทำผ่าตัดโดยการนำผิวกระดูกอ่อนที่เสื่อมสภาพแล้วออก หลังจากนั้นจะนำข้อเข่าเทียมซึ่งทำมาจากโลหะและโพลิเอทธีลีนที่ได้รับการออกแบบมา เพื่อรักษาข้อเข่าเสื่อมโดยเฉพาะมาใส่แทนที่โดยยึดด้วยซีเมนต์พิเศษแล้วจัดแกนขาที่ผิดรูปให้กลับมาตรงดังเดิม ทำให้ภายหลังจากการผ่าตัดผู้ป่วยจะสามารถเคลื่อนไหวข้อเข่าและลงน้ำหนักได้เป็นธรรมชาติและปราศจากความเจ็บปวด

ข้อเข่าเทียม มีส่วนประกอบด้วยกัน 4 ส่วนได้แก่

1. ส่วนที่ติดกับปลายกระดูกต้นขาส่วนล่าง (femoral component) เป็นโลหะผิวเรียบที่ยึดกับปลายกระดูกต้นขาส่วนล่าง ทำหน้าที่เป็นเหมือนกระดูกอ่อนผิวข้อ
2. ส่วนที่ติดกับปลายกระดูกหน้าแข้งส่วนบน (tibial component) เป็นโลหะที่ยึดติดกับปลายกระดูกหน้าแข้งส่วนบน ทำหน้าที่เป็นแป้นรองรับหมอนรองกระดูกเทียมอีกทีหนึ่ง
3. หมอนรองกระดูกเทียม (polyethylene) อยู่ระหว่างโลหะสองชิ้นข้างต้น ทำหน้าที่รับและกระจายน้ำหนัก
4. ผิวลูกสะบ้าเทียม (patellar component)

1

การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมมีหลายชนิดและหลายวิธี จึงจำเป็นจะต้องเลือกให้มีความเหมาะสมสำหรับคนไข้แต่ละราย ข้อดีและข้อเสียก็แตกต่างกันไป

เมื่อไรที่ควรผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียม

การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมจัดเป็นการผ่าตัดเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต โดยสามารถทำให้คนไข้หายจากอาการเจ็บปวดทรมาน สามารถเดินได้ตามปกติหรือใกล้เคียงปกติและเดินได้ไกลมากขึ้น สามารถออกไปใช้ชีวิตประจำวันได้หรือท่องเที่ยวได้ รวมถึงรูปร่างของข้อเข่าดูสวยงามขึ้น ข้อเข่าเทียมที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันอายุการใช้งานโดยเฉลี่ยประมาณ 20-25 ปีแล้วจะเริ่มสึกหรอ แพทย์จึงมักพิจารณาผ่าตัดเฉพาะคนไข้ที่มีอายุค่อนข้างมากแล้ว เนื่องจากการเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมในคนไข้ที่อายุน้อยซึ่งยังมีการเคลื่อนไหวและใช้ข้อมาก จะทำให้ข้อเข่าเทียมมีการสึกหรอเร็วและมีอายุการใช้งานที่สั้นลง อีกทั้งการผ่าตัดเปลี่ยนซ้ำอีกครั้งอาจจะไม่ให้ผลการรักษาที่ดีเหมือนครั้งแรก ดังนั้นแพทย์จะเลือกทำการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมในคนไข้ที่รักษาโดยวิธีการรับประทานยาและการรักษาทางเวชศาสตร์ฟื้นฟูมาอย่างเต็มที่แล้วอาการไม่ดีขึ้น โดยแพทย์และคนไข้จะประเมินอาการร่วมกันเพื่อตัดสินใจในการผ่าตัด

โดยสรุป

ผู้ป่วยที่เหมาะสมจะผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียม ได้แก่

  • ผู้ป่วยสูงอายุที่มีข้อเข่าเสื่อมในระยะสุดท้าย
  • ผู้ป่วยที่ต้องทานยาแก้ปวดต่อเนื่องกันทุกวัน
  • อาการปวดมากจนไปรบกวนการประกอบกิจวัตรประจำวัน
  • เมื่อรักษาโดยวิธีอื่นทั้งหมดแล้วไม่ประสบความสำเร็จ

ข้อเข่าเทียมมีกี่ชนิด

ผู้ป่วยแต่ละคนมีความรุนแรงของภาวะข้อเข่าเสื่อมมากน้อยแตกต่างกันไป ข้อเข่าเทียมเองก็มีการออกแบบมาหลายชนิดแตกต่างกันเพื่อใช้ทดแทนผิวข้อที่มีการสึกหรอในแบบที่ไม่เหมือนกัน ข้อเข่าเทียมแบ่งกว้างๆได้เป็นสองประเภทใหญ่ ได้แก่

1.ข้อเข่าเทียมแบบเปลี่ยนผิวข้อเฉพาะบางส่วน ซึ่งยังแบ่งได้อีก 2 แบบ

  • ข้อเข่าเทียมแบบซีกเดียว (Unicompartmental Knee Arthroplasty) ใช้ทดแทนผิวข้อที่สึกเพียงด้านใดด้านหนึ่งของผิวข้อ ที่พบมากคือผู้ป่วยที่มีอาการปวดเข่าทางด้านในเพียงด้านเดียวและแกนขาไม่โก่งมาก แพทย์จะนำเอาผิวกระดูกที่เสื่อมสภาพเพียงบางส่วนนั้นออกไป แล้วใช้ข้อเข่าเทียมชนิดซีกเดียวเปลี่ยนให้
  • ข้อเข่าเทียมแบบสองซีก (Bicompartmental Knee Arthroplasty) เป็นข้อเข่าเทียมที่ใช้เปลี่ยนผิวข้อทางด้านในและลูกสะบ้า เหมาะจะใช้ในคนไข้ที่มีผิวข้อเสื่อมทางด้านในและผิวลูกสะบ้าสึกหรอ มีแกนขาโก่งไม่มาก และผิวข้อทางด้านนอกปกติดี
1
1

2. ข้อเข่าเทียมแบบเต็มข้อ (Total Knee Arthroplasty) เป็นข้อเข่าเทียมที่ใช้ในผู้ป่วยที่มีความรุนแรงของข้อเข่าเสื่อมมากๆ ผู้ป่วยมีอาการปวดเข่าทั่วทั้งเข่าและแกนขาผิดรูปมาก แพทย์จะนำผิวข้อที่เสื่อมแล้วออกทั้งหมด แล้วทดแทนด้วยข้อเข่าเทียมแบบเต็มข้อ

1

ผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมแบบแผลเล็ก

ผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมแบบแผลเล็ก (เนื้อเยื่อบาดเจ็บน้อย) (Minimally Invasive Surgery-Total Knee Arthroplasty; MIS-TKA) การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมเป็นการผ่าตัดเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีข้อเข่าเสื่อมในระยะสุดท้าย จัดว่าเป็นการผ่าตัดที่ประสบความสำเร็จมากชนิดหนึ่งในวงการศัลยแพทย์กระดูก วิธีการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมแบ่งได้เป็น 3 วิธี ได้แก่

1. แบบมาตรฐานดั้งเดิม(Standard Total Knee Arthroplasty)

1

2. แบบแผลเล็ก (เนื้อเยื่อบาดเจ็บน้อย) (Minimally Invasive Surgery-Total Knee Arthroplasty; MIS-TKA)

1

โดยสรุป ข้อดีของการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมแบบแผลเล็ก (เนื้อเยื่อบาดเจ็บน้อย) ได้แก่

  • แผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก 8-9 เซนติเมตร
  • เจ็บปวดน้อยกว่า
  • เสียเลือดน้อยกว่า
  • ลุกเดินได้เร็วกว่า
  • กลับบ้านได้เร็วกว่า
วิธีมาตรฐาน
(Standard Total Knee Arthoplasty)
วิธีเนื้อเยื่อบาดเจ็บน้อย
(Minimally Invasive Surgery-Total Knee Arthoplasty)
ขนาดแผลผ่าตัด 15-20 เซนติเมตร 8-9 เซนติเมตร
ปริมาณการเสียเลือด 400-800 ซีซี 300-600 ซีซี
ความเจ็บปวด มากกว่า น้อยกว่า
วันที่เริ่มเดิน 4-7 วันหลังผ่าตัด 1-2 วันหลังผ่าตัด
ระยะเวลาที่นอนโรงพยาบาล 7-14 วันหลังผ่าตัด 3-7 วันหลังผ่าตัด

ผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมแบบแผลเล็กโดยใช้คอมพิวเตอร์นำร่อง ชนิด imageless robotic-assisted

การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมแนวใหม่ล่าสุดคือ การผ่าตัดข้อเข่าเทียมแบบแผลเล็กโดยใช้คอมพิวเตอร์นำร่องชนิด imageless robotic-assisted จะเป็นการผ่าตัดที่รวมเอาข้อดีของการผ่าตัดแบบเนื้อเยื้อบาดเจ็บน้อย ที่ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วขึ้น มารวมกับการใช้เทคโนโลยีการใช้คอมพิวเตอร์ทำให้แพทย์สามารถผ่าตัดได้อย่างแม่นยำ โดยที่เปิดแผลขนาดเล็กลง โดยคอมพิวเตอร์นำร่อง Robotic-Assisted Total Knee Arthroplasty มีการพัฒนาดีขึ้น ช่วยให้การผ่าตัดมีความแม่นยำสูงขึ้น ไม่จำเป็นต้องทำการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ก่อนผ่าตัด มีความแม่นยำในการจำลองกระดูกข้อเข่า ช่วยคำนวณและวัดปริมาณผิวข้อเข่าเทียมที่จะต้องตัดออก และสามารถช่วยวางตำแหน่งของข้อเข่าเทียมที่จะทำการใส่ โดยใช้ภาพจำลองสามมิติ พบว่าช่วยเพิ่มความแม่นยำในการตัดกระดูกและวางตำแหน่งข้อเทียมได้ดีกว่าการทำผ่าตัดแบบมาตรฐานดั้งเดิม

1

โดยรวมแล้วผู้ป่วยจึงสามารถที่จะฟื้นตัวได้เร็วขึ้น ลุกเดินได้เร็วขึ้น และก็กลับมาประกอบกิจวัตรประจำวันได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น ผู้ป่วยสามารถลุกยืน และเดินได้ดีตั้งแต่วันแรกหลังผ่าตัด ผู้ป่วยที่ผ่าตัดข้อเข่าเทียมโดยวิธีนี้จะกลับบ้านได้ในราววันที่ 3-4 หลังการผ่าตัด โดยก่อนที่จะกลับบ้าน ผู้ป่วยควรจะสามารถเหยียดเข่าได้ตรง งอเข่าได้เกิน 90 องศา และสามารถเดินไปห้องน้ำคนเดียว โดยใช้เครื่องช่วยเดิน เมื่อเข้าสู่สัปดาห์ที่ 2 ผู้ป่วยสามารถเดินได้คล่องขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยเดิน หลังจากนั้นแพทย์จะนัดติดตามผู้ป่วย เพื่อประเมินการใช้งานและความมั่นคงของข้อเข่าเป็นระยะทุก 3 เดือน ถึง 6 เดือน และตลอดไป

1

ข้อเข่าเทียมแบบซีกเดียว

ข้อเข่าเทียมแบบซีกเดียว (Unicompartmental Knee Arthroplasty) ใช้ทดแทนผิวข้อที่สึกเพียงเล็กน้อยที่ด้านใดด้านหนึ่งของผิวข้อ ที่พบมากคือผู้ป่วยที่มีอาการปวดเข่าทางด้านในเพียงด้านเดียวและแกนขาไม่โก่งมาก แพทย์จะนำเอาผิวกระดูกที่เสื่อมสภาพเพียงบางส่วนนั้นออกไป แล้วใช้ข้อเข่าเทียมชนิดซีกเดียวเปลี่ยนให้ การผ่าตัดโดยใช้ข้อเทียมแบบนี้มีข้อดีคือ แพทย์ไม่ต้องตัดเอ็นไขว้เข่าด้านหน้าออกเหมือนการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมแบบเต็มข้อ ซึ่งจะทำให้ภายหลังผ่าตัด การเคลื่อนไหวของเข่าจะเป็นธรรมชาติกว่า แผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก (6-8 เซนติเมตร) คนไข้เสียเลือดน้อย สามารถลุกเดินได้ในเวลารวดเร็วและเป็นธรรมชาติกว่า นอกจากนี้ยังจัดได้ว่าเป็นการผ่าตัดแบบเนื้อเยื่อบาดเจ็บน้อย (Minimally Invasive Surgery; MIS) อีกด้วย แต่การผ่าตัดโดยใช้ข้อเข่าเทียมแบบเปลี่ยนผิวข้อเฉพาะบางส่วนก็ข้อจำกัดหลายอย่าง ได้แก่
1. ไม่เหมาะกับผู้ที่เข่าเสื่อมมากหรือเสื่อมทั้งหมด
2. เหมาะเฉพาะกับคนไข้ที่ขาโก่งไม่มาก
3. เหมาะเฉพาะกับคนไข้ที่เข่าอักเสบไม่มาก

Temp
ข้อเข่าเทียมแบบซีกเดียว
Temp
ภาพผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมข้างซ้าย
Temp
ภาพเอกซเรย์ก่อนผ่าตัด
Temp
ภาพเอกซเรย์หลังผ่าตัด
Temp
ภาพผิวกระดูกอ่อนและหมอนรองกระดูก
ที่เสื่อมสภาพแล้วถูกนำออก
Temp
ภาพผู้ป่วยหลังผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียม
แบบซีกเดียวที่เข่าซ้าย

ภายหลังผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมแบบแผลเล็ก

หลังผ่าตัด 24 ชั่วโมงแรก

ภายหลังการผ่าตัดเสร็จเรียบร้อย ใน 24 ชั่วโมงแรกคนไข้จะได้รับการดูแลเกี่ยวกับสัญญาณชีพ, ระดับความดันโลหิตที่เหมาะสม รวมถึงการให้ยาระงับปวดที่พอเพียง คนไข้จะต้องเริ่มทำกายบริหารเบาๆตั้งแต่เริ่มรู้สึกตัวด้วยวิธีดังต่อไปนี้

6 1
กระดกข้อเท้าขึ้นลงเป็นจังหวะช้าๆ เพื่อให้มีการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อขาและน่อง ควรทำอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาเท่าที่สามารถทำได้ เพื่อลดการบวมของขาและเท้า รวมถึงเป็นการป้องกันภาวะเส้นเลือดดำอุดตันด้วย
6 1
เกร็งเข่าด้านหลังกดลงบนตียงค้างไว้ 5 วินาทีแล้วปล่อย ทำซ้ำบ่อยๆเท่าที่สามารถทำได้
6 1
ใช้แผ่นความเย็นพันรอบเข่าเพื่อบรรเทาปวด เปลี่ยนแผ่นความเย็นได้บ่อยๆให้เย็นอยู่เสมอ
6 1
ใช้หมอนรองใต้ส้นเท้าเพื่อให้เข่าเหยียด

วันแรกหลังผ่าตัด

แพทย์จะนำสายที่ใช้ระบายเลือดเสียรวมถึงสายปัสสาวะและสายน้ำเกลือออกภายใน 24-48 ชั่วโมงหลังผ่าตัด โดยที่คนไข้จะสามารถขยับข้อเข่าได้ดีขึ้นและเริ่มหัดเดินลงน้ำหนักตั้งแต่วันที่ 1-3 หลังผ่าตัดเป็นต้นไป ระหว่างนี้นอกจากคนไข้จะทำการบริหารโดยกระดกข้อเท้าขึ้นลงและเกร็งเข่าด้านหลังกดลงบนเตียงแล้ว คนไข้ควรทำการบริหารกล้ามเนื้อต้นขาและฝึกเหยียดงอเข่าอย่างต่อเนื่อง

6 1
นอนบนเตียง งอเข่าโดยค่อยๆลากส้นเท้าเข้าหาตัว พยายามงอให้ได้มากที่สุดแล้วค้างไว้ 5-10 วินาทีจึงเหยียดออก ทำซ้ำบ่อยๆจนกว่าจะงอเข่าได้สุด
6 1
นั่งข้างเตียง ใช้เท้าข้างที่ไม่ได้ทำผ่าตัดรองใต้ส้นเท้าของข้างที่ทำผ่าตัด แล้วยกขึ้นเพื่อให้เหยียดตรงแล้วค้างไว้ 5-10 วินาทีจึงปล่อยขาให้งอลงช้าๆ ทำซ้ำได้บ่อยๆ
6 1
นั่งข้างเตียง ใช้เท้าข้างที่ไม่ได้ทำผ่าตัดกดบริเวณเหนือข้อเท้าของข้างที่ทำผ่าตัด เพื่อให้เข่างอให้ได้มากที่สุดแล้วค้างไว้ 5-10 วินาที จึงปล่อยออก ทำซ้ำได้บ่อยๆ
6 1
นั่งเหยียดเข่าเกร็งค้างไว้เป็นเวลา 5-10 วินาทีแล้วงอเข่าดังเดิม ทำซ้ำวันละ 20-30 รอบ ทำเป็นประจำทุกๆวันต่อเนื่องกัน
6 1
เดินโดยใช้เครื่องช่วยเดิน โดยลำดับขั้นของการเดินมี 3 จังหวะ

1. ยกเครื่องช่วยเดินไปข้างหน้า
2. ก้าวขาข้างที่ทำผ่าตัดก่อน
3. ก้าวขาข้างที่ไม่ได้ทำผ่าตัดตามไปจนเสมอกับขาข้างที่ทำผ่าตัด

6 1
นั่งบนเก้าอี้ งอเข่าจนกระทั่งเท้าสัมผัสพื้นแล้วโน้มตัวมาข้างหน้าเพื่อให้เข่างอเพิ่มขึ้นอีก เกร็งค้างไว้ 5-10 วินาทีจึงเหยียดออก ทำซ้ำบ่อยๆโดยเพิ่มมุมที่งอขึ้นเรื่อยๆ จนกว่าจะงอเข่าได้สุด

วันที่ 2 หลังผ่าตัด

ตั้งแต่วันที่ 2 หลังผ่าตัดเป็นต้นไป คนไข้ส่วนใหญ่จะรู้สึกดีและแข็งแรงขึ้นมาก อาการปวดน้อยลงเรื่อยๆ สามารถช่วยเหลือตัวเองได้เพิ่มขึ้น เดินไปเข้าห้องน้ำได้ด้วยตนเองโดยใช้เครื่องช่วยเดินแบบ 4 ขา (walker) แพทย์จะเปลี่ยนยาบรรเทาปวดจากแบบให้ทางสายน้ำเกลือเป็นแบบรับประทานให้แก่คนไข้ แพทย์จะตรวจร่างกายและดูความเรียบร้อยของบาดแผล คนไข้ควรทำกายบริหารเช่นเดียวกับวันแรกโดยพยายามเพิ่มขีดความสามารถของตนเองขึ้น ระหว่างนี้คนไข้จะปรับความมากน้อยในการเดินและกายบริหารด้วยตนเองได้ โดยภายหลังจากเดินหรือกายบริหารเสร็จถ้าพบว่าตนเองปวดมากขึ้น ก็ควรลดการเดินหรือกายบริหารนั้นลงจนพอเหมาะ

Temp
Temp

ก่อนกลับบ้าน

คนไข้จะกลับบ้านได้ในราววันที่ 3-7 หลังการผ่าตัด โดยก่อนที่จะกลับบ้าน คนไข้ควรจะสามารถเหยียดเข่าได้ตรง งอเข่าได้เกิน 90 องศา เดินได้คล่องและสามารถเดินไปห้องน้ำคนเดียวโดยใช้เครื่องช่วยเดิน แผลผ่าตัดแห้งสะอาดดี เข้าใจและสามารถปฏิบัติกายบริหารด้วยตนเองที่บ้านได้เป็นอย่างดี และสุขภาพโดยรวมแข็งแรงปกติดี แพทย์จะกำหนดวันนัดหมายให้คนไข้กลับมาตรวจอีกครั้งในราว 2 สัปดาห์หลังผ่าตัด และแจ้งให้ทราบว่าเมื่อไรที่คนไข้จำเป็นที่จะต้องกลับมาพบแพทย์ทันที ซึ่งได้แก่ภาวะเหล่านี้

  • มีอาการปวดมากเกินปกติ รับประทานยาแก้ปวดที่แพทย์จ่ายให้กลับบ้านแล้วไม่หาย
  • มีไข้
  • แผลผ่าตัดมีน้ำซึมหรือเปียกน้ำ
  • รอบๆแผลผ่าตัดบวมแดงมากขึ้นเรื่อยๆ
  • ขาหรือเข่าบวมมากเกินปกติ
  • สุขภาพทั่วไปผิดปกติ เช่นหอบเหนื่อย เจ็บแน่นหน้าอก
Temp
Temp

ระหว่างอยู่ที่บ้าน

Temp ในระหว่างอยู่ที่บ้าน คนไข้ควรฝึกเดินลงน้ำหนักและทำการบริหารกล้ามเนื้อต้นขา รวมถึงการฝึกเหยียดงอเข่าอย่างสม่ำเสมอเหมือนตอนอยู่ที่โรงพยาบาล ในช่วง 1- 2 สัปดาห์แรกหลังการผ่าตัด คนไข้ควรเดินโดยใช้เครื่องช่วยเดินแบบ 4 ขา (walker) หลังจากนั้นเมื่อมีความมั่นใจในการเดินและการทรงตัวมากขึ้น ก็ค่อยๆเปลี่ยนเป็นใช้ไม้เท้าช่วยเดิน และเดินโดยไม่ใช้เครื่องช่วยเดินตามลำดับ ทั้งนี้ต้องเข้าใจว่าความสามารถในการเดินอย่างมั่นใจ มุมงอเหยียดของเข่ามากหรือน้อย จะค่อยๆเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับเมื่อเวลาผ่านไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น อายุของคนไข้ ความมากน้อยของเข่าเสื่อมก่อนการผ่าตัด โรคประจำตัว รวมถึงความแข็งแรงของสุขภาพโดยรวม คนไข้ส่วนใหญ่จะรู้ถึงความสามารถของตนเองที่ค่อยๆเพิ่มมากขึ้นในแต่ละวันที่ผ่านไป แพทย์จะนัดคนไข้เพื่อดูความเรียบร้อยของแผลผ่าตัดที่ 2 สัปดาห์หลังจากผ่าตัด หลังจากนั้นแพทย์จะนัดคนไข้เพื่อประเมินถึงความสามารถในการใช้งานและความมั่นคงของข้อเข่าทุก 3 – 6 เดือนและตลอดไปอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยทั่วไปภายหลังจากการผ่าตัด 2- 3 เดือนขึ้นไปคนไข้จะสามารถดำเนินชีวิตประจำวัน, เดินขึ้นลงบันได, ขับรถ ตลอดจนถึงสามารถออกกำลังกายที่ไม่รุนแรงได้อย่างเป็นปกติ

ข้อเข่าเทียมสำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะ

ข้อเข่าเทียมสำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะ(Gender Knee) การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมเป็นการผ่าตัดเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ทำให้ผู้ป่วยหายจากอาการเจ็บปวดทรมาน สามารถเคลื่อนไหวข้อเข่าและเดินได้เป็นธรรมชาติ รวมถึงรูปร่างของข้อเข่าดูสวยงามขึ้น เทคโนโลยีในการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมในปัจจุบันได้มีการพัฒนาไปอย่างมากใน 3 เรื่องสำคัญ ได้แก่

1. การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมแบบเนื้อเยื่อบาดเจ็บน้อย หรือ MIS-TKA (Minimally Invasive Surgery-Total Knee Arthroplasty)
2. การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมโดยใช้คอมพิวเตอร์นำร่องช่วยผ่าตัด (Computer Navigation Total Knee Arthroplasty)
3. การพัฒนาข้อเข่าเทียมเพื่อผู้หญิงโดยเฉพาะ (GenderKnee)

เนื่องจากผู้หญิงเป็นเพศที่มีปัญหาของข้อเข่าเสื่อมที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมมากกว่าผู้ชาย และโครงสร้างสรีระของผู้หญิงเองก็แตกต่างกับผู้ชาย จึงทำให้บริษัทผู้ผลิตข้อเข่าเทียมพยายามที่จะพัฒนาออกแบบข้อเข่าเทียมเพื่อให้เหมาะกับผู้หญิงโดยเฉพาะ ข้อเข่าเทียมสำหรับผู้หญิงมีความแตกต่างจากข้อเข่าเทียมปกติใน 3 เรื่องสำคัญ คือ

1. ความกว้าง รูปทรง และความโค้งเว้า ที่เหมาะกับสรีระของผู้หญิง ผู้ออกแบบข้อเข่าเทียมวิจัยพบว่า ข้อเข่าผู้หญิงมีรูปทรงที่แตกต่างจากผู้ชาย โดยเข่าผู้หญิงมีอัตราส่วนความกว้างน้อยกว่าผู้ชาย ทำให้ผู้ออกแบบพยายามลดความกว้างของข้อเข่าเทียมลงให้เหมาะกับสรีระผู้หญิง ทำให้ผิวข้อเทียมไม่ล้นออกมานอกกระดูก ลดปัญหาการกดทับต่อเอ็นและเนื้อเยื่อรอบๆเข่าซึ่งอาจเป็นสาเหตุของการปวดหลังผ่าตัด

Temp
ข้อเข่าเทียมทั่วๆ ไป
Temp
ข้อเข่าเทียมสำหรับผู้หญิง
Temp

ลดความกว้างของข้อเข่าเทียมให้เหมาะกับสรีระข้อเข่าของผู้หญิง ซึ่งช่วยป้องกันไม่ให้ผิวข้อล้นออกมานอกกระดูกซึ่งอาจก่อให้เกิดการกดทับ เนื้อเยือและเส้นเอ็นรอบๆ ข้อเข่า ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของการปวดหลังผ่าตัด

2. รูปทรงของผิวข้อเทียมที่บางลงโดยออกแบบให้ผิวข้อเทียมส่วนบนบริเวณที่สัมผัสกับลูกสะบ้ามีความหนาน้อยลง จึงเอื้อต่อการงอและเคลื่อนไหวได้เป็นธรรมชาติ

Temp

ผิวข้อบริเวณด้านหน้าที่บางกว่า ไม่เทอะทะ ช่วยให้เกิดการเคลื่อนไหวอย่างเป็นธรรมชาติ

3. การเคลื่อนไหวของลูกสะบ้าอยู่ในร่องที่เหมาะสมเนื่องจากผู้หญิงมีลักษณะทางด้านสรีระสะโพกที่ผายกว่าผู้ชาย มุมการเคลื่อนไหวของลูกสะบ้าจึงมีความเอียงที่มากกว่าผู้ชาย จึงมีการออกแบบให้ผิวข้อเทียมส่วนบนมีรูปทรงของร่องที่รับไปกับลูกสะบ้าได้อย่างเหมาะสม ซึ่งทำให้การงอเข่าได้มุมงอที่เพิ่มขึ้น โดยสามารถรองรับการงอเข่าที่มากได้อย่างปลอดภัยถึง 155 องศา

Temp
Temp
ข้อเข่าเทียมทั่วๆ ไป
Temp
ข้อเข่าเทียมสำหรับผู้หญิง

ผู้ป่วยหลังผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมโดยใช้ข้อเข่าเทียมเพื่อผู้หญิงโดยเฉพาะ (Gender Knee)